บริการให้คำปรึกษา


           การกำหนดความหมายในงานด้านการให้คำปรึกษานั้นสามารถ ทำได้หลายแง่มุมด้วยกัน ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดความหมายว่าจะเน้นไปทางด้านใด


  • เน้นที่ผู้รับคำปรึกษา ความหมายที่กำหนดขึ้นจะออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงต่างๆในตัวของผู้รับคำปรึกษา เช่นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษาซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์/ความรู้สึก ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองหรือต่อผู้อื่น เช่นผู้รับคำปรึกษาเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเองจนทำให้ไม่สามารถนำสิ่งที่ดีต่างๆของตนออกมาใช้เพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อตนเองได้ ผู้ให้คำปรึกษาก็ต้องทำหน้าที่ช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองตามความเป็นจริงและสามารถนำสิ่งที่เขามีอยู่มาใช้ในการพัฒนาชีวิตของตนต่อไป

  • เน้นที่ผู้ให้คำปรึกษา ความหมายที่กำหนดขึ้นจะเน้นเกี่ยวกับบทบาทต่างๆในการให้คำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาโดยมีผู้รับคำปรึกษาเป็นกุญแจดอกสำคัญในการกำหนดขอบเขตบทบาทต่างๆของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งต้องไม่เป็นการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของผู้รับคำปรึกษาแต่ช่วยผู้รับคำปรึกษาให้เห็นและเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเขา,ช่วยให้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขและเผชิญกับปัญหานั้นรวมทั้งชี้ให้เห็นช่องทาง การดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพในพระเยซูคริสต์ และมีชีวิตที่เจริญเติบโต

  • เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา การกำหนดความหมายจะคลุมไปถึงลักษณะของความสัมพันธ์ คุณภาพ ขอบเขตของความสัมพันธ์ และอาจรวมถึงระยะเวลาของความสัมพันธ์ด้วย อันเป็นการเปิดโอกาสแก่ผู้ให้คำปรึกษาในการช่วยผู้รับคำปรึกษา ซึ่งการให้คำปรึกษาจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพของทั้งสองฝ่าย

  • เน้นที่ขบวนการในการให้คำปรึกษา การกำหนดความหมายจะมุ่งไปที่ขั้นตอนการให้คำปรึกษากับลักษณะของการให้คำปรึกษา เช่นหากลักษณะการให้คำปรึกษาเป็นแบบการสอน ก็จะเน้นที่การเตรียมการสอน เนื้อหา อุปกรณ์ ขั้นตอนการสอน จำนวนคนที่จะเรียน เป้าหมายของการสอน/การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลโดยเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปเพราะลักษณะปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

สรุป นอกจากการกำหนดความหมายทั้ง 4 ประการนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆอีก เช่นการกำหนดความหมายตามขบวนการในการเปลี่ยนแปลงของผู้มารับคำปรึกษาหรือตามผลของการให้คำปรึกษาและอื่นๆ อีกตามปรัชญาของผู้ให้คำปรึกษาที่แตกต่างกัน โดยล้วนมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้มารับคำปรึกษาในการพัฒนาตนเองและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


หลักการของการให้การปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ

เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองได้ บทบาทของผู้ให้การปรึกษาจึงเป็นการช่วยให้ผู้รับบริการมีโอกาสใช้ศักยภาพพัฒนากระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดขึ้นได้ การให้การปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องของการช่วยผู้รับบริการให้หลุดออกจากภาวะความลังเล ไปสู่ความเชื่อมั่นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างคงที่และถาวร ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญดังนี้

  • แสดงความเข้าใจผู้รับบริการ ( Express Empathy ) โดยการฟังอย่างตั้งใจที่จะเข้าใจความรู้สึก ไม่ตัดสิน ไม่วิจารณ์ ช่วยให้เข้าใจถึงความลังเล และมีผลในการสร้างแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง
  • ช่วยให้การรับบริการเห็นถึงความขัดแย้ง ( Develop Discrepancy ) ทำให้เห็นช่องว่างระหว่างพฤติกรรมปัจจุบัน กับสิ่งที่ต้องบรรลุ จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
  • หลีกเลี่ยงการทะเลาะ ขัดแย้งหรือเอาชนะ ( Avoid Argumentation ) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
  • โอนอ่อนตามแรงต้าน ( Roll with Resistance ) เพื่อเปลี่ยนการรับรู้หรือมุมมองของผู้รับบริการ แต่ไม่ได้บังคับให้เห็นคล้อยตาม
  • สนับสนุนความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองของผู้รับบริการ ( Support Self – Efficacy ) โดยสื่อให้ผู้รับบริการรู้ว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่สำคัญยิ่ง


ประเภทของการให้คำปรึกษา

การให้คำปรึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

  • การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล (Individual Counseling) การให้คำปรึกษาประเภทนี้เป็นแบบที่ได้รับความนิยม และถูกนำมาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ การให้คำปรึกษาจะเป็นการพบกันระหว่างผู้ให้คำปรึกษา 1 คน  กับผู้ขอคำปรึกษา 1 คน โดยร่วมมือกัน  การให้คำปรึกษาแบบนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้ผู้ขอรับคำปรึกษาให้สามารถเข้าใจตนเอง  เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง หรือเพื่อให้สมาชิกในองค์การ  เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น  

    ทำให้คนในองค์การได้ตระหนักถึงความรู้สึกเกี่ยวกับปฏิกิริยาและการแสดงออกของอารมณ์ของตนและผู้อื่น  เข้าใจความสำคัญของทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม แรงจูงใจ พฤติกรรมต่าง ๆของบุคคล เข้าใจความสำคัญของการเสริมแรงและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนสามารถกำหนดเป้าหมายและการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้

  • การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม (Group Counseling) การให้คำปรึกษาประเภทนี้  หรืออาจเรียกว่าการให้คำปรึกษาเชิงกระบวนการ  เป็นกระบวนการที่บุคคลที่มีความต้องการหรือปัญหาที่คล้ายกันหรือตรงกัน ต้องการปรับปรุงตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือต้องการจะแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งร่วมกัน  มารวมกันเป็นกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือซึ่งกันและกันโดยมีผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้ช่วยเหลือกลุ่ม  สมาชิกในกลุ่มประมาณ  7 - 9  คน  ต่อผู้ให้คำปรึกษา 1 คนสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้พิจารณากำหนดปัญหา แสดงออกเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดเห็นของแต่ละคนเป็นการได้ระบายความรู้สึกและความคิดเห็นของแต่ละคน 

    เป็นการได้ระบายความรู้สึกขัดแย้งในจิตใจได้สำรวจตนเอง ได้ฝึกการยอมรับตนเอง กล้าที่จะเผชิญปัญหาและได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา หรือปรับปรุงตนเองกับทั้งที่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  และได้ตระหนักว่าผู้อื่นก็มีความขัดแย้งหรือความคิดเห็นเช่นเดียวกับตนไม่ใช่เขาคนเดียวที่มีปัญหาและอย่างน้อยยังมีอีกคนหนึ่งคือ ผู้ให้คำปรึกษาที่ยอมรับและเข้าใจเขา  ผู้ให้คำปรึกษาจะให้ข้อพิจารณา  ให้คำแนะนำว่าเพื่อให้กลุ่มเข้าใจปัญหาที่เป็นอยู่ ช่วยกันคิดหรือปรึกษาหารือในทางเลือกแนวทางแก้ไขปัญหา แต่กลุ่มต้องตัดสินในเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหาเอง  

    วิธีการให้คำปรึกษาแบบนี้สมาชิกของกลุ่มจะร่วมกันคิด  แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดความคิดเห็นต่างกัน และการกระทำต่างกัน ทำให้การปฏิบัติงานโดยร่วมมือกัน การทำงานก็มีประสิทธิภาพ  และอีกประการหนึ่งการใช้วิธีนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนได้เสนอแนะความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองสามารถให้ข้อคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มได้ ตัวอย่างของการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม เช่น การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแก่คนงานที่มีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายใหม่หรือมีความต้องการที่จะปรับปรุงวิธีการทำงาน เป็นต้น

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 156,144